วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ใช้ข้อมูลสุขภาพ บนอินเตอร์เน็ตต้องระวัง



ใช้ข้อมูลสุขภาพ บนอินเตอร์เน็ตต้องระวัง


คนรุ่นใหม่ถนัดที่จะสืบหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตลาดหุ้น ข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม การหางาน รวมทั้งการแพทย์และการรักษาพยาบาล มีเว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่นที่ช่วยในการหาข้อมูลมากมาย แต่การใช้ข้อมูลทางอินเตอร์ในการวินิจฉัยและรักษาโรค เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง


เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แพทย์ที่เมโยคลินิกได้ทำการศึกษาทดสอบดูว่าข้อมูล หรือข้อแนะนำการวินิจฉัยและการรักษาจากอินเตอร์เน็ตนั้น ดีแค่ไหน และได้ข้อสรุปว่ามันเป็นการเสี่ยงที่จะทำอย่างนั้น เพราะการใช้อินเตอร์เน็ตหาข้อมูลดังกล่าว มักจะจบลงด้วยการไม่ได้คำแนะนำ หรือแนะนำไม่ครบมากกว่าจะได้คำแนะนำที่ถูกต้อง โดยแพทย์จากเมโยคลินิก ได้ทำการวิเคราะห์ผลการค้นจากเว็บไซต์ เช่น กูเกิล ยาฮุ ด้วยการตั้งคำถามเรื่อง “เจ็บหน้าอก” หรือ “ปวดหัว” ผลปรากฏว่า ไม่มีเว็บไซต์ใดที่ให้ข้อมูลเรื่องอาการครบถ้วนพอที่เขาจะนำไปใช้แยกแนวทางการปฏิบัติ (triage อ่านว่า ทริ-อาจ) เช่น คำแนะนำว่า “รีบไปห้องฉุกเฉิน” หรือ “โทรหาหมอ”  หรือ “ให้รักษาที่บ้านได้” 1 ใน 3 ของเว็บไซต์ ไม่มีอาการสำคัญ แม้ว่าบางเว็บไซต์จะให้คำวินิจฉัยแต่ก็มีคำวินิจฉัยมากเสียจนคนค้นข้อมูลมึนงง ไม่รู้จะใช้คำวินิจฉัยโรคไหนดีในการดำเนินการต่อ และจากดารศึกษาของโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด เมื่อปีที่แล้วยังพบว่า บางเว็บไซต์ให้คำแนะนำแบบระมัดระวัง และมักจะจบลงด้วยคำแนะนำว่าให้ไปหาหมอ


สรุปแล้วคำแนะนำต่างๆ ในเว็บไซต์ยังช่วยไม่ได้ 100% ดังนั้น ถ้าคุณมีอาการเจ็บป่วยมากก็ไม่ควรยึดถือเว็บไซต์เป็นสรณะทางการรักษาพยาบาล


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม >>> http://line.me/ti/p/%40menhealththailand
หรือ @menhealththailand
ดูเว็บไซต์ได้ที่ >>> www.menhealththailand.com
ติดตาม Facebook ที่ >>> https://www.facebook.com/MenHealthThailandCom

ปัญหาทางเดินอาหารกวนใจวัยสูงอายุ



ท้องไส้กวนใจวัยสูงอายุ


ปัญหาทางเดินอาหารที่พบบ่อย

วัยสูงอายุเป็นวัยที่ผู้คนได้พักผ่อนจากภาระงานอันหนักหน่วงในวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็ตามเนื่องจากร่างกายย่อมมีความเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น ปัญหาจากความเสื่อมของระบบต่างๆ รวมทั้งทางเดินอาหารย่อมบั่นทอนคุณภาพชีวิตที่ผู้สูงวัยควรจะมี ดังนั้น เราควรจะทำความรู้จักปัญหาและแนวทางแก้ไขป้องกัน เพื่อความสุขในบั้นปลายชีวิต


ทางเดินอาหารเปลี่ยนแปลง ที่มาของปัญหา

ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้วว่าระบบต่างๆ ในร่างกายรวมถึงระบบทางเดินอาหารย่อมเสื่อมลงไปตามอายุที่มากขึ้น ผลกระทบจากความเสื่อมของแต่ละองค์ประกอบในระบบทางเดินอาหารมีดังนี้

 ช่องปาก ผู้สูงอายุจะหลั่งน้ำลายน้อยลง ทำให้ฟันผุง่ายขึ้น ผู้สูงอายุจึงเจ็บฟัน สูญเสียฟันเมื่ออายุมากขึ้น ท้ายที่สุดการเคี้ยวอาหารต่างๆ จึงไม่ค่อยดี ทำให้สำลักได้ง่าย นอกจากนี้การที่น้ำลายแห้ง ทำให้ผู้สูงอายุเป็นแผลในปากได้ง่ายขึ้น รวมถึงการรับรู้รสชาติของอาหารที่เสื่อมลง ซึ่งลดความอยากอาหาร ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการได้ง่ายขึ้น


 การกลืนอาหาร กล้ามเนื้อหลอดอาหารทำงานได้น้อยลง ทำให้กลืนยากขึ้น สำลักได้ง่ายขึ้น ตลอดจนรับประทานอาหารได้น้อยลง


 กระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้สูงอายุจะมีผนังเยื่อบุกระเพาะอาหารที่บางลง จึงมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรับประทาน ยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร


นอกจากนี้การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ที่ช้าลง ทำให้ต้องใช้เวลาในการย่อยอาหารนานขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยติดเตียงหรือเคลื่อนไหวได้น้อย การบีบตัวที่ลดลงนี้ยังทำให้ยาที่ดูดซึมในช่วงต้นๆ ของระบบทางเดินอาหารถูกร่างกายดูดซึมได้น้อยลงอีกด้วย


 ตับ เอนไซม์ที่ย่อยสลายยาหรือสารเคมีจากภายนอกร่างกายจะทำงานได้น้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อปัญหายาตีกัน หรืออาการไม่พึงประสงค์จากยาได้มากขึ้น


 ลำไส้ใหญ่ การเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ก็ช้าลงตามวัยที่มากขึ้น ทำให้อุจจาระอยู่ในลำไส้ใหญ่นานขึ้น และแข็งมากขึ้น ผู้สูงอายุจึงท้องผูกได้ง่าย


เมื่อโรคอื่นส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร

โรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของผู้สูงอายุยังส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารได้ เช่น ผู้สูงอายุที่น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ก็จะทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น หรือการป่วยด้วยโรคเบาหวาน พาร์กินสัน ก็ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารในที่สุด นอกจากนี้ยาบางอย่างก็ยังทำให้ท้องผูกได้ง่าย เช่น ยานอนหลับ ยาปัสสาวะ หรือยาแก้แพ้บางตัว


การรักษาและการดูแลตนเอง

ผู้สูงอายุควรสังเกตอาการหรือความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารอย่างสม่ำเสมอ ความผิดปกติที่ควรจะไปพบแพทย์ได้แก่

 การเปลี่ยนแปลงของการขับถ่าย เช่น แต่เดิมไม่เคยท้องผูก แต่ตอนนี้กลับมีอาการท้องผูกหรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย

 ลักษณะอุจจาระผิดปกติ เช่น มีมูกหรือเลือดปน

 เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

 กลืนอาหารลำบาก


ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง ในกรณีที่จำเป็น ให้แจ้งโรคประจำตัวและประวัติการใช้ยาแก่เภสัชกรประจำร้านยา เพื่อป้องกันปัญหายาตีกัน (เช่น โอมีพราโซล ซึ่งเป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร สามารถลดการออกฤทธิ์ของยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ชื่อว่าคลอพิโดเกรลได้) หรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่ส่งผลต่อโรคที่เป็นอยู่ (เช่น ในกรณีของผู้ป่วยโรคไตวายได้รับยาระบายที่มีแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบ อาจส่งผลให้แมกนีเซียมในร่างกายสูงขึ้น จนเกิดความผิดปกติได้)


ปัญหาระบบทางเดินปัญหาหลายอย่าง อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา ขอเพียงแค่ฝึกสุขนิสัยที่ดี เช่น การเพิ่มปริมาณใยอาหารที่รับประทาน การดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร ในกรณีที่ไม่มีข้อห้าม หรือการเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา ก็จะช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ สุขนิสัยอื่นๆ ที่ควรฝึกเพื่อสุขภาพของระบบทางเดินอาหารที่ดี ได้แก่

 การรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่รับประทานอาหารมื้อใหญ่เกินไป

 การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 การหมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบขับถ่าย

 การลดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะกรดไหลย้อน

 การลดหรือหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม เนื่องจากน้ำอัดลมบางชนิดมีคาเฟอีน นอกจากนี้น้ำอัดลมยังมีการอัดแก๊ส ทำให้ท้องอืด แน่นท้องได้ง่ายขึ้น


ระบบทางเดินอาหารนั้นจริงๆ เป็นแค่ระบบเดียวในร่างกาย การที่เราจะมีสุขภาพที่แข็งแรงได้ก็คงต้องดูแลทุกระบบในร่างกายร่วมกัน โดยการใช้ชีวิตที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี หมั่นออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และมีสุขภาพจิตที่ดี


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม >>> http://line.me/ti/p/%40menhealththailand
หรือ @menhealththailand
ดูเว็บไซต์ได้ที่ >>> www.menhealththailand.com
ติดตาม Facebook ที่ >>> https://www.facebook.com/MenHealthThailandCom

วิธีการครอบแก้วบำบัดอาการปวด



ครอบแก้วบำบัด


วิธีการครอบแก้วบำบัดอาการปวดเป็นวิธีที่นิยมมากมาแต่โบราณกาล และถือเป็นหนึ่งในวิธีแพทย์ทางเลือก โดยวิธีการไม่ยุ่งยาก เพียงใช้หลักการของสุญญากาศและการรับความรู้สึกของผิวหนังเป็นปัจจัย ที่ทำให้อาการปวดหรืออักเสบบรรเทาลง นอกจากนี้การครอบแก้วยังจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ทำให้ผ่อนคลาย และยังทำให้รู้สึกเหมือนผิวหนังได้รับการนวดอีกด้วย


การครอบแก้วไม่ได้จำกัดเฉพาะการใช้แก้วเพียงอย่างเดียว อุปกรณ์ที่ใช้อาจมีเพียงหลากหลาย ได้แก่ ไม้ไผ่กระเบื้อง หรือแม้กระทั่งพลาสติกหรือซิลิโคน ประวัติของการครอบแก้วบำบัดนี้ไม่ได้เพิ่งจะมานิยมในปัจจุบัน แต่ในสมัยกรีกโบราณได้มีการบันทึกเกี่ยวกับการครอบแก้วบำบัดในตำราแพทย์กรีก ชื่อว่า Ebers Papyrus เมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล รวมทั้งยังพบประวัติของการครอบแก้วในบันทึกแพทย์แผนจีนอีกด้วย


ชนิดของการครอบแก้วมีทั้งแบบแห้งและแบบเปียก โดยทั้งสองวิธีผู้ทำการครอบแก้วจะใช้สารที่สามารถติดไฟได้ เช่น แอลกอฮอล์ สมุนไพร หรือกระดาษใส่ลงไปในแก้ว เพื่อให้ติดไฟได้ และเมื่อไฟดับลง ผู้ครอบแก้วก็จะคว่ำแก้วลงบนผิวหนังในตำแหน่งที่ต้องการครอบแก้ว ขณะนั้นเองก็จะเกิดแรงดูดสุญญากาศดูดผิวหนังขึ้นมา ส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด และผิวหนังแดงเป็นวงกลม


โดยปกติผู้ครอบแก้วจะทำการครอบแก้วไว้ประมาณ 3 นาที ต่อมาได้มีการดัดแปลงให้การครอบแก้วทำได้ง่ายขึ้น และสามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยใช้กระบอกสูบอากาศพลาสติก ทำให้เกิดแรงดันสุญญากาศ ในช่วงแรกผู้ครอบแก้วอาจใช้แก้วจำนวน 3-5 ใบ และเพิ่มจำนวนแก้วตามลำดับในครั้งต่อๆ ไป แพทย์แผนจีนบางท่านอาจใช้การฝังเข็มร่วมกับการครอบแก้ว โดยฝังเข็มบริเวณที่ปวดก่อน ต่อมาจึงครอบแก้วเหนือบริเวณที่ฝังเข็ม


การครอบแก้วนอกจากจะใช้บำบัดรักษาในตำแหน่งที่ปวดแล้ว ยังรักษาอาการปวดที่เกี่ยวพันกับเส้นลมปราณ ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของเส้นประสาท ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของกล้ามเนื้อมีอาการปวด ตำราแพทย์แผนจีนเชื่อว่าเลือดมักจะอัดแน่นในตำแหน่งนั้นๆ และจะเข้าไปกดทับเส้นประสาทในบริเวณดังกล่าว ดังนั้น การครอบแก้วจึงช่วยบรรเทาอาการได้เป็นอย่างดี และเส้นประสาทในแต่ละจุดยังมีความเกี่ยวโยงกับอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายอีกด้วย


งานวิจัยเกี่ยวกับการครอบแก้ว

แม้ว่าการครอบแก้วบำบัดจะถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่ออกมารองรับผลของการครอบแก้วยังไม่มีมากนัก หนึ่งในงานวิจัยเกี่ยวกับการครอบแก้วที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารแพทย์แผนโบราณ (Journal of Traditional and Complementary Medicine)


เมื่อปี 2015 กล่าวว่าการครอบแก้วบำบัดอาจจะมีประโยชน์ในการลดปวด ลดสิว และบรรเทาโรคงูสวัด นอกจากนี้หลายงานวิจัยยังรองรับว่าการครอบแก้ว อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทในกรณีที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณใบหน้า ส่วนสมาคมครอบแก้วแห่งประเทศอังกฤษ (The Cupping Society of England) กล่าวว่า การครอบแก้วยังช่วยบำบัดอาการในโรคต่างๆ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย โรคโลหิตจาง โรคข้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคผิวหนัง โรคความดันโลหิตสูง โรคไมเกรน โรคซึมเศร้า โรคหอบหืด และโรคเส้นเลือดขอด เป็นต้น


ข้อควรระวัง

หลังเข้ารับการครอบแก้วบำบัดอาจเกิดรอยเป็นจ้ำๆ ที่ผิวหนังบริเวณที่มีการครอบแก้วคล้ายรอยกระแทก โดยเฉลี่ยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 วัน แล้วรอยเหล่านี้จะค่อยๆ จางลงโดยไม่จำเป็นต้องทายา บางรายอาจมีอาการปวดระบมหรือมีไข้ต่ำๆ หากมีอาการควรใช้ผ้าอุ่นๆ ประคบหรือรับประทานยาพาราเซตามอล นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงการอาบน้ำทันทีหลังการทำครอบแก้ว และในแต่ละครั้งของการทำครอบแก้วบำบัดไม่ควรครอบแก้วทิ้งไว้นานเกิน 10 นาที เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ ผู้ที่ห้ามเข้ารับการครอบแก้วบำบัด คือ หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคผิวหนัง


โดยปกติการครอบแก้วมาตรฐานจะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ที่ผ่านการอบรมในสถานพยาบาลหรือคลินิก ในปัจจุบันแพทย์แผนจีนหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามไปยังสถานพยาบาลใกล้บ้านในแผนกฝังเข็ม และแพทย์แผนจีน หรือแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู (กายภาพบำบัด)


ผลข้างเคียงของการครอบแก้วบำบัด

 ผิวหนังไหม้

 รอยฟกช้ำ

 การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม >>> http://line.me/ti/p/%40menhealththailand
หรือ @menhealththailand
ดูเว็บไซต์ได้ที่ >>> www.menhealththailand.com
ติดตาม Facebook ที่ >>> https://www.facebook.com/MenHealthThailandCom

เลิกขับรถเมื่ออายุเท่าไหร่ดี



มีคนชอบพูดกันว่า “แก่แล้วไม่ควรขับรถ” บางคนก็พูดกับตัวเองอย่างนี้ เนื่องจากเคยขับรถไปเฉี่ยวชนมาแล้ว บางคนเกิดเหตุมาแล้วหลายครั้ง จึงฉุกคิดถามตัวเองว่าอายุเท่าไหร่จึงไม่ควรขับรถ


การขับรถเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง ทำให้เราดำรงชีวิตแบบอิสระได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ทำให้ภาวะจิตใจดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมที่ขนส่งสาธารณะไม่ครอบคลุมทั่วถึงดีพอ คนจำเป็นต้องออกจากบ้านไปทำสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ซื้ออาหารการกินเช่นที่สหรัฐอเมริกา แม้จะเป็นประเทศพัฒนาคนมีบำนาญกิน แต่การขนส่งมวลชนมีไม่พอ ไม่ครอบคลุม  คนส่วนมากไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย แก่หรือหนุ่มสาว ต่างก็จำเป็นต้องขับรถจนอายุแก่เฒ่า บางคนไม่รู้จะหันไปพึ่งใครเพราะลูกเต้าส่วนมากพอปีกกล้าขาแข็ง ก็ออกจากรังไปทำมาหากิน มีครอบครัวอยู่ที่อื่น ทิ้งให้พ่อแม่ที่แก่เฒ่าต้องขับรถพึ่งพาตนเอง


ในประเทศพัฒนาก็ไม่มีตัวเลขอายุที่ขีดเส้นแน่นอน ว่าอายุเท่าไหร่จึงไม่ควรขับรถ เพราะอายุไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มากำหนดกฎเกณฑ์ว่าควรขับรถ แม้ว่าจะเป็นที่รู้กันว่า เมื่อคนเราอายุมากขึ้นความสามารถในการมองเห็น ได้ยิน การตอบสนองที่เกี่ยวข้องกับการขับรถลดลง ทว่าแต่ละคนก็ลดลงไม่เท่ากัน อายุเท่ากันแต่ความสามารถในการมองเห็นได้ยิน และตอบสนองต่อสิ่งเร้าแวดล้อมก็ไม่เท่ากัน


คนขับรถที่อายุมากจึงต้องมีการประเมินตัวเอง บางคนรู้ตัวเองว่ามีขีดจำกัดแค่ไหนจึงปรับเปลี่ยนการขับรถให้เหมาะกับตัวเอง เช่น

 บางคนขับน้อยลง ให้ลูกหรือเมียขับแทน

 บางคนหลีกเลี่ยงการขับในเวลากลางคืน

 บางคนไม่ถนัดที่จะขับเลี้ยวขวาในถนนจอแจ เพราะกลัวกะความเร็วรถผิดแล้วโดนชนขณะเลี้ยว ก็จำเป็นต้องขับไปข้างหน้าอีกหนึ่งแยกเพื่อขับยูเทิร์น

 บางคนปรับเปลี่ยนเส้นทางการขับรถที่ง่ายกว่า

 บางคนขับเฉพาะในละแวกบ้านที่คุ้นเคย


ตามสถิติของสหรัฐฯ คนขับรถที่สูงอายุมีสถิติเกิดอุบัติเหตุปางตายต่อระยะทางเป็นไมล์ มากกว่ากลุ่มอื่น คนขับที่อายุมากกว่า 75ปี เกิดเหตุฝ่าฝืนกฎจราจรและอุบัติเหตุไม่ถึงตายมากกว่าคนหนุ่มสาว เขามีกฎเกณฑ์ในแต่ละมลรัฐแตกต่างกันในการออกใบอนุญาตขับรถ


ประเมินตนเอง...เรื่องสำคัญ

การประเมินตนเองมีความสำคัญสำหรับผู้สูงอายุในการพิจารณาตัวเอง เพราะฉะนั้นลองพิจารณาดูว่าเคยมีเหตุการณ์หรือสภาพแบบนี้เกิดขึ้นกับตัวท่านหรือไม่

 เคยมีประวัติหกล้มง่ายๆ บ้างไหม ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งบอกเตือนล่วงหน้าของระบบประสาทและสมองเสื่อมลง

 เคยมีอุบัติเหตุเล็กๆ หรือฝ่าฝืนกฎจราจรโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ขับฝ่าไฟแดงบ้างไหม
สายตาเป็นอย่างไร อ่านหนังสือตัวเล็กๆ ได้ไหม อ่านป้ายจราจรได้ดีแค่ไหน มีความสามารถทางร่างกายเป็นอย่างไร เดินเหินลุกนั่งคล่องตัวหรือไม่

 กินยารักษาโรคประจำตัวอะไรบ้าง ที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมลดความสามารถในการขับรถ เช่น ยาแก้แพ้ ยากล่อมประสาท ยาต้านความเครียด ฯลฯ

 มีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ไหม เช่น โรคลมชักหรือลมบ้าหมู โรคหัวใจขาดเลือดรุนแรงจนเกิดหัวใจวาย (heart attack) หรือหัวใจเต้นผิดปกติจนเกิดอัมพาต (stoke) เฉียบพลันขณะขับรถ

 ช่วงเวลาไหนที่เราชอบง่วงหลับ เช่น หลังอาหารเที่ยงมื้อใหญ่ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรกินอาหารเที่ยงให้น้อยลงก่อนจะไปขับรถ ถ้าอดหลับอดนอนก่อนมาขับรถก็ต้องระวัง บางคนเคยกินกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นประจำ ถ้าไม่ได้กินจะเกิดอาการถอนยาทำให้ง่วงหลับคาพวงมาลัยได้ง่าย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องรู้ไว้และแก้ไขหลีกเลี่ยง

 ถ้าไม่แน่ใจว่าคุณหรือคู่ครองที่มีอายุมากจะยังมีความสามารถในการขับรถได้ดีหรือเปล่า ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจจะช่วยซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจสายตา เพื่อหาโรคที่ทำให้การขับรถอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น ควรปรึกษาเภสัชกรดูว่ายาที่กินมีผลต่อการขับรถหรือไม่ ถ้ามีควรปรับเปลี่ยนอย่างไร


การตรวจแบบนี้สามารถลดอุบัติการณ์ของการขับที่เป็นลมชักพุ่งเข้าสู่ศาลท้าวมหาพรหม เอราวัณเมื่อเร็วๆ นี้ลงได้ ไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ที่สหรัฐฯ เขามีคอร์สการสอนขับรถสำหรับผู้สูงอายุ และบางแห่งมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถแนะนำผู้สูงอายุถึงเทคนิคการขับรถที่ปลอดภัย เช่นที่ AAA หรือสมาคมรถยนต์อเมริกัน เป็นต้น


ส่วนมากมันขึ้นอยู่กับผู้ขับรถเองว่าจะทำตัวอย่างไร จะเลิกขับรถหรือไม่ หรือจะใช้ขนส่งมวลชนแทนเมื่อจำเป็น หรือบางแห่งมีบริการแท็กซี่ หรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนให้โดยสารไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเว็บไซต์หรือเบอร์โทรขอความช่วยเหลือ


เมื่อไหร่จึงควรเลิกขับรถเป็นสิ่งที่ผู้ขับจะพิจารณาตัดสินใจเอง เพราะส่วนมากไม่มีกฎหมายบอกตัวเลขไว้ สิ่งหนึ่งที่ต้องแนะนำเอาไว้ คือ เมื่อมีสิ่งบอกเหตุแล้ว ต้องพึงจดจำ อย่าชะล่าใจ ปล่อยให้มันเกิดเหตุใหญ่ ถึงขนาดปางตาย แล้วจึงเรียนรู้ เสียค่าเล่าเรียนแพงๆ ด้วยการบาดเจ็บล้มตาย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม >>> http://line.me/ti/p/%40menhealththailand
หรือ @menhealththailand
ดูเว็บไซต์ได้ที่ >>> www.menhealththailand.com
ติดตาม Facebook ที่ >>> https://www.facebook.com/MenHealthThailandCom

ยาแก้ข้อเข่าเสื่อมช่วยได้จริงหรือ




เดี๋ยวนี้จะพบว่า ผู้หญิงที่อายุย่างเข้า 60 ปี มักจะมีปัญหาเรื่อง “ปวดเข่า” มีเสียงกรอบแกรบในเข่า เจ็บเวลาเริ่มเดิน เหล่านี้มักเป็นสัญญาณแรกๆ ของอาการข้อเข่าเสื่อม หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงปวด ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือ บริเวณเข่าจะมีกระดูกข้อต่อ 2 ชิ้น ทำหน้าที่เหมือนบานพับ ซึ่งผิวกระดูกจะเรียบมัน เพื่อให้เคลื่อนไหวง่าย แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจะพบว่าผิวเข่าบางส่วนเกิดการบดเสียดสีจนถลอกขรุขระ อาจเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ว่าผิวของข้อเข่าปกติคือกระเบื้องมันๆ วาวๆ ส่วนข้อเข่าเสื่อมคือพื้นซีเมนต์หยาบๆ อย่างไรอย่างนั้น แล้วก็เกิดคำถามต่อมาว่า “ยาที่วางขายอยู่ไม่ว่าจะเป็นกลูโคซามีนหรือคอลลาเจนสกัดต่างๆ ช่วยบรรเทาอาการได้จริงหรือ”


ยาที่ใช้บรรเทาอาการเข่าเสื่อมกลุ่มที่ใช้มากที่สุดน่าจะเป็นกลูโคซามีน ถ้าใครเคยไปอเมริกาจะพบว่า ตามร้าน Walgreens, CVS หรือ Cosco จะวางขายได้ทั่วๆ ไป เพราะถูกจดทะเบียนเป็นอาหารเสริม จึงเป็นที่นิยมเพราะหาซื้อได้สะดวก ส่วนกลูโคซามีนไปช่วยอะไรในข้อเข่าบ้างนั้น เนื่องจากว่าผิวเข่าเราจะมีชั้นเคลือบมันๆ ที่เรียกว่า cartilage ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำและคอลลาเจน (ร่างกายคนเรามีคอลลาเจนหลายชนิดมากๆ) ในเข่าก็เป็นชนิดหนึ่ง กลูโคซามีนก็เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างเข่าตัวหนึ่ง เพื่อเข้าไปปรับสมดุลรักษาน้ำเลี้ยงข้อเข่า ช่วยลดการถลอกของบริเวณผิวเข่า และยังช่วยลดการอักเสบในข้อเข่า


“แล้วที่ขายมีหลายชนิดมาก เราจะรู้ได้ไหมว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี?” ถ้าสังเกตให้ดีแล้วจะพบว่า การผลิตกลูโคซามีนมักจะทำเป็นผลึกละลายน้ำ ส่วนประกอบเป็นเกลือไฮโครคลอไรด์ (HCL) และเกลือซัลเฟต ผลึกเกลือไฮโดรคลอไรด์จะผลิตได้ง่ายกว่าทั้งที่เป็นเกลือเหมือนกัน แต่คุณสมบัติในการแตกตัวดูดซึมแตกต่างกัน มีการศึกษาพบว่าในคนไข้กลุ่มที่ได้รับกลูโคซามีนที่ใช้เกลือซัลเฟตเป็นส่วนประกอบได้ผลการรักษาที่ดีกว่า นอกจากนี้บางยี่ห้อยังมีการผสมสารตัวอื่น เช่น chondroitin เข้าไปด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นสารประกอบในเข่าเช่นกัน


“จำเป็นต้องรับประทานนานไหม ?” โดยทั่วไปมักจะต้องรับประทานติดต่อกันประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีขึ้นไป จึงจะเห็นผล ถ้าอาการดีขึ้น หายปวด ก็สามารถหยุดได้ ถ้ารับประทานติดต่อกัน 6 เดือน ยังสามารถหยุดยาได้ 2 เดือน เพราะระดับยาในเข่าจะยังมีอยู่ ถ้าเริ่มมีอาการค่อยเริ่มรับประทานยาใหม่อีกครั้ง ส่วนที่เคยมีข้อมูลว่ารับประทานยากลุ่มนี้แล้วจะมีผลข้างเคียง เรื่องความดันลูกตาสูงขึ้น พบว่าเป็นเพียงการศึกษาไม่กี่การศึกษา และยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานยากลุ่มกลูโคซามีน กับความดันลูกตาสูงที่สัมพันธ์กันอย่างเด่นชัด


“ผู้ป่วยที่ปวดเข่าจำเป็นต้องรับประทานยากลุ่มกลูโคซามีนทุกรายหรือเปล่า ?” ไม่ใช่ทุกรายที่มีอาการปวดเข่าแล้วจะเป็นข้อเข่าเสื่อม อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเอ็นข้อเข่าอักเสบ หมอนรองกระดูกฉีกขาด ในกรณีนี้แม้ว่าจะรับประทานยากลุ่มกลูโคซามีนก็ไม่ได้ช่วยอะไร จึงแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยก่อนน่าจะดีกว่า


“ถ้าเรารู้ว่าเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งเข่าเราจะเสื่อม เราสามารถป้องกันไว้ตั้งแต่ต้นได้ไหม ?” เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก เพราะคงไม่มีใครอยากจะเป็น แต่ ณ ขณะนี้ข้อมูลทางวิชาการยังไม่พบข้อดีของการรับประทานกลูโคซามีน เพื่อป้องกันอาการข้อเข่าเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่ช่วยชะลอการเสื่อมที่เกิดขึ้นได้


ในส่วนของคอลลาเจนสกัด ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนที่เด่นชัดว่า ช่วยลดอาการปวดเข่าได้ อย่างไรก็ตามจากการที่ผู้เขียนได้ไปประชุม EULAR หรือสมาคมโรคข้อทางยุโรปกับ AAOS ทางอเมริกา แพทย์ทางยุโรปและอเมริกาก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกันเองว่า ยากลุ่มรักษาข้อเข่าเสื่อมมีประสิทธิภาพดีพอสำหรับรักษาข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ จึงเป็นการยากที่จะบ่งบอกไปอย่างฟันธงว่า ดีจริงหรือไม่


สรุปในความเห็นของผู้เขียน ถ้าเราได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขา การคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ หรือพับเพียบ ขัดสมาธิเป็นเวลานาน รับประทานยาเท่าที่จำเป็น เท่านี้ก็สามารถบรรเทาอาการปวดข้อเข่าอย่างได้ผลแล้วครับ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม >>> http://line.me/ti/p/%40menhealththailand
หรือ @menhealththailand
ดูเว็บไซต์ได้ที่ >>> www.menhealththailand.com
ติดตาม Facebook ที่ >>> https://www.facebook.com/MenHealthThailandCom

แบ่งเวลาเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัว



ความเหนื่อยล้าจากการทำงานย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายสุขภาพใจ ในบางครั้งภาระงานที่ล้นตัวอาจทำให้คนทำงานต้องเอางานมาทำต่อที่บ้าน หรือใช้เวลางานไปกับชีวิตประจำวัน แต่การจัดสรรเวลาและยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตโดยยึดองค์ประกอบ คือ ความสมดุลของงานและชีวิต จะทำให้คนที่แยกงานออกจากเรื่องส่วนตัวได้มีความสุขมากขึ้น


เว็บไซต์ค้นหาข้อมูลยอดนิยมอย่าง Google ได้ทำการสำรวจโดยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ชอบการใช้ชีวิตกับการทำงานไปในทิศทางใด ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่แยกเรื่องงานออกจากชีวิตส่วนตัวได้ โดยจัดลำดับความสำคัญและแบ่งพื้นที่ของชีวิตให้ชัดเจน ล้วนมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่รู้จักแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว


อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจนี้พบว่า ผู้ที่สามารถแยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวได้มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ส่วนคนทำงานที่ใช้ชีวิตจริงจัง และเอาเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวมาปะปนกัน มีจำนวนมากเกินกว่าครึ่ง Google เชื่อว่านายจ้างมีส่วนสำคัญที่จะช่วยคนกลุ่มนี้ได้ โดย Google ได้เสนอโครงการตัวอย่างด้วยการขอให้พนักงานมอบมือถือให้บริษัทเก็บไว้ก่อนกลับบ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่กลับไปหมกมุ่นกับเรื่องงานเมื่อถึงบ้าน


นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้คนทำงานตั้งเป้าหมายกับการใช้ชีวิตส่วนตัวมากขึ้น เช่น สัญญากับตัวเองว่า จะไม่เช็คอีเมลล์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น โดยสรุป Google มีแนวคิดที่อยากทำให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข โดยผลลัพธ์ในระยะยาวก็คือ จะได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งทำให้คนทำงานอยากจะอยู่กับองค์กรไปอีกนาน เหมือนที่ Google ประสบความสำเร็จนี้มาแล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม >>> http://line.me/ti/p/%40menhealththailand
หรือ @menhealththailand
ดูเว็บไซต์ได้ที่ >>> www.menhealththailand.com
ติดตาม Facebook ที่ >>> https://www.facebook.com/MenHealthThailandCom

มีเลือดกำเดาไหลออกจากช่องจมูก



เลือดกำเดาไหลต้องดูแล


ในวัยทำงานและสังคมอันเร่งรีบ ร่วมกับอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาจเป็นเหตุให้เกิดเลือดกำเดาไหล ซึ่งเกิดได้จากเยื่อบุโพรงจมูกแห้งไปจนถึงมะเร็งโพรงจมูก เราจึงควรทราบการดูแลตนเองเบื้องต้น และอาการสำคัญที่ควรไปพบแพทย์


เลือดกำเดา (Epistaxis) คือ ภาวะที่มีเลือดไหลออกจากช่องจมูก พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย มักพบมากในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากอากาศแห้ง ความชื้นในอาการลดลง โดยมีสาเหตุจากการแคะจมูก เยื่อบุจมูกแห้ง หลอดเลือดโพรงจมูกฉีกขาด โพรงจมูกอักเสบ จมูกกระแทกจากอุบัติเหตุ มีสิ่งแปลกปลอม โรคเนื้องอกหรือมะเร็งในโพรงจมูก ความดันโลหิตสูง ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และผลจากการกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่ง 90% เลือดมักไหลออกจากจมูกส่วนหน้าที่มีหลอดเลือดแดงหลายเส้นมาบรรจบกันเป็นร่างแห ส่วนใหญ่เลือดหยุดได้เอง และควรรักษาสาเหตุร่วมด้วย


การดูแลตนเองเมื่อเลือดกำเดาออก

• ควรนั่งหัวสูง ก้มหน้าเล็กน้อย (หากเงยหน้า ถ้ามีเลือดไหลลงคออาจเกิดการสำลักได้) ใช้มือกดบีบปีกจมูก 5-10 นาที หายใจทางปากแทน จะช่วยให้เลือดหยุดไหลได้ อาจใช้น้ำแข็งประคบจมูกให้หลอดเลือดหดตัว


• หลังเลือดกำเดาไหลภายใน 24 ชั่วโมงแรก ควรนอนพัก ไม่สั่งน้ำมูกแรง ไม่แคะจมูก ไม่ยกของหนัก ไม่ดื่มสุรา เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกซ้ำ


ควรไปพบแพทย์เมื่อ เลือดออกมากจนรู้สึกเวียนศีรษะ ใจสั่น จะเป็นลม เลือดออกไม่หยุดนานกว่า 20 นาที เป็นโรคเลือดออกง่าย เกล็ดเลือดต่ำ ความดันโลหิตสูง หรือใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด


การป้องกัน คือ ต้องหาสาเหตุให้พบและรักษาตามสาเหตุ ไม่แคะจมูกและใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม >>> http://line.me/ti/p/%40menhealththailand
หรือ @menhealththailand
ดูเว็บไซต์ได้ที่ >>> www.menhealththailand.com
ติดตาม Facebook ที่ >>> https://www.facebook.com/MenHealthThailandCom